วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เส้นแบ่งบาง ๆ ระหว่างการเรียนรู้และการเสพข้อมูล

"การเรียนรู้" คืออะไร?
"การเสพข้อมูล" คืออะไร?

หากใครไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างสองคำนี้ รับรองได้ว่าพลาดตลอดชีวิต ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว สังคมมนุษย์เกือบทั้งหมด ล้วนแล้วแต่เข้าใจคำว่าการเรียนรู้ผิดไปจากที่มันควรจะเป็นมาก มากจนกลายเป็นการเสพข้อมูลไปเสียเกือบทั้งหมด หลงคิดว่าความจำคือปัญญา กว่าจะรู้สึกตัวก็เสียเวลาไปเกือบทั้งชีวิต

การเรียนรู้ที่แท้จริงนั้น จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ บุคคล คนนั้นได้ประสบพบเจอสิ่ง ๆ นั้นด้วยตัวเองจากของจริง จากปรากฎการณ์จริง จากสถานการณ์จริง จนเกิดการวิเคราะห์ การเชื่อมโยง การวิพากษ์ ได้บทสรุป และปล่อยวาง จาก "ของจริง" การเรียนรู้เช่นนี้ ทำให้ผู้เรียนรู้ หมดสงสัย หมดกังวล เกิดปัญญาที่แท้จริงจนมองสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องธรรมดา และส่งผลก่อให้เเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในชีวิตจริง ตามปัญญาใหม่นั้น และสามารถถ่ายทอดออกมาให้ทุกคนฟังได้โดยไม่ต้องเขียนบทกำกับหรือต้องเตรียมตัวแต่อย่างใด เรียกว่ามันคือปัญญาจากข้างใน หรือจะเรียกว่าภูมิปัญญาก็ได้ ซึ่งเมื่อเข้าใจสิ่งนั้นอย่างแจ่มแจ้งถ่องแท้แล้ว มันจะยิ่งทำให้เราสงบรำงับ เรียบง่าย เข้าใจธรรมชาติของปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในโลกในสังคมได้ดียิ่งขึ้น เชื่อมโยงตัวเองและกลมกลืนไปกับสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

ส่วนการเสพข้อมูลนั้น คือ การอ่าน การดู การนั่งฟัง ในสิ่งที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง ได้ยินมาจากการเล่าต่อกันมา หรืออาจจะเกิดขึ้นในการจัดฉากจำลองเหตุการณ์ ซึ่งไม่ได้ให้ความรู้สึกว่า "จริง" หรือยังไม่ได้ลงมือทำด้วยตนเอง หรือประสบพบเจอด้วยตนเองในสถานการณ์จริง ไม่ได้ผลกระทบจากการเรียนรู้นั้นด้วยตัวเองอย่างแท้จริง ได้แต่ฟัง ดู อ่าน แล้วก็คิดคำนึงไปเองว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเมื่อไม่ได้เจอกับตัวเองแล้ว มันก็จะมีแต่ความลังเลสงสัย มีแต่ความกลัว มีแต่คำถามที่ไม่กล้าหาคำตอบ และชีวิตของผู้เสพก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเลย เพราะกลัวที่จะก้าวออกจากความยึดติดเดิม ๆ อันเป็นผลมาจากที่ว่า สิ่งที่ได้รู้มาทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องที่คิดเองเออเองทั้งหมด ไม่ได้สัมผัสมันโดยแท้จริง จึงไม่แน่ใจว่าผลจากการลองของจริงจะออกมาอย่างที่ได้ยินได้ฟังมาหรือไม่

เหมือนคำว่ามรณานุสตินั่นแหละ ตอนอ่านเนื้อหาก็พอเข้าใจ แต่พอเจอของจริง ใกล้ตายจริง ๆ นี่กลายเป็นคนละเรื่องเลย

ด้วยความแตกต่างนี้เอง จึงไม่แปลกใจที่หนังสือฮาวทูของผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตแทบทั้งหมด ไม่เคยมีนักเขียนคนไหนพูดถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโรงเรียนเลย เพราะปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิตจริง ล้วนมาจากประสบการณ์ในชีวิตจริงนอกโรงเรียนทั้งนั้น ประสบการณ์ชีวิตคือโรงเรียนที่ดีที่สุด แต่เรากลับยัดเยียดเด็ก ๆ ให้เข้าสู่โลกเรียนรู้จำลอง ในประสบการณ์ปลอม ๆ ที่เรียกว่าโรงเรียน ซึ่งเป็นสถานที่ ที่ย่อทุกอย่างไว้เกือบหมด เป็นโลกย่อส่วนที่ไม่มีสิ่งใดจริงเลย นอกจากที่คนสร้างระบบคิดเองเออเองว่ามันควรจะเป็นแบบนี้แบบนั้น

การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นเพียง "การเสพข้อมูล" แทบทั้งนั้น เสพเข้าไปแล้วก็ไปทดสอบว่าจำเนื้อหาที่ครูสอนได้มากน้อยแค่ไหน จำแล้วอั้นเอาไว้เพื่อสอบ สอบเสร็จก็ลืม ไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง แล้วก็ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อผู้เรียนอย่างแท้จริง ผู้เรียนเพียงแต่มาโรงเรียนแล้วก็เสพข้อมูลซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้มันจำ สอบครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยความเบื่อหน่ายสะอิดสะเอียน แต่ก็ต้องยอมกระเดือกเนื้อหานั้นเข้าไปเพราะมันไม่ค่อยจะมีทางเลือกกันสักเท่าไหร่

อีกอย่างหนึ่งคือ ข้อมูลที่โรงเรียนยัดเยียดให้เด็กนั้น เจือปนด้วยอคติสูงมาก เพราะต้องรับนโยบายมาจากส่วนกลางบ้าง จากผู้บริหารโรงเรียนบ้าง การเรียนการสอนจึงมีการชี้นำและครอบงำสูง คือถ้าจะพูดกันตรง ๆ ก็คือเหมือนการล้างสมองนั่นแหละ ปัญหาคือแต่ละคนที่มาล้างสมองเด็ก ๆ ก็ไม่ได้มีชีวิตที่พิสูจน์แล้วว่าดีเลิศประเสริฐศรีจริง ๆ สักรายเดียว (ก็ถ้าดีจริง ไม่ต้องบังคับหรอกครับ เด็กเขารู้เอง) จึงไม่น่าแปลกใจ เมื่ออุดมคติที่โรงเรียนพร่ำสอนเรา มักจะไม่ตรงกับความเป็นจริงอยู่บ่อย ๆ เพราะผู้คนทั้งหลายไม่เคยเป็นเส้นตรงหรือตายตัวในแบบที่พร่ำสอนกันเลยแม้แต่นิดเดียว

ก็ถ้าชีวิตนี้ต้องมาเสียเวลาตรวจสอบว่าสิ่งที่เราเรียนมากับของจริงมันแตกต่างกันตรงไหน แล้วสิ่งไหนบ้างที่ต้องมาเรียนรู้ใหม่ ก็ลองนึกดูว่าจะต้องเสียเวลาในชีวิตไปอีกเท่าไหร่

สิ่งที่เราได้ใช้จริง ที่เรารับมาจากโรงเรียนนั้น ก็มีแค่ การอ่านออกเขียนได้ บวกลบคูณหารพื้น ๆ ที่เรานำมาใช้ในชีวิตประจำวันเท่านั้นเอง เพราะเรานำสิ่งเหล่านี้มาใช้เป็นพื้นฐาน และเรียนรู้ต่อยอดในชีวิตจริง ส่วนที่เหลือที่เรียนกันมาแทบเป็นแทบตายนั้น ลืมทิ้งไปจนหมดเมื่อสอบเสร็จ เพราะมันเป็นแค่การเสพข้อมูลเท่านั้น และการนั่งเสพข้อมูลเป็นเวลาสิบยี่สิบปีติดต่อกัน ก็ส่งผลกระทบเชิงลบมากกว่าที่คนส่วนใหญ่จะตระหนักถึงอีกมากมาย

ยิ่งต้องมานั่งกังวลกับการสอบเกือบครึ่งชีวิตนี่ แต่ละคนคงไม่มีแรงมีกำลังพอที่จะคิดสร้างสรรค์อะไรได้อีกเป็นแน่ นอกจากจะยอม ๆ ตามระบบไปตลอดชีวิต

วิถีทางของโรงเรียนในปัจจุบันจึงไม่ใช่วิถีทางแห่งปัญญาอย่างที่ควรจะเป็น หรืออย่างที่โฆษณาเอาไว้ ยิ่งการปลูกฝังจินตนาการนี่เลิกพูดได้เลย เพราะยิ่งเรียนก็ยิ่งงง ยิ่งเรียนยิ่งไม่กล้าคิด เพราะความรู้มันซับซ้อนและเยอะเกินไป ยิ่งเรียนยิ่งกลัว ยิ่งรู้มากแต่กลับไม่เข้าใจโลกมากยิ่งขึ้น ยิ่งสับสนมากยิ่งขึ้น ยิ่งยุ่งยากขึ้น ยิ่งแปลกแยกจากสภาพแวดล้อม แปลกแยกจากสังคม แปลกแยกจากครอบครัว กลายเป็นปัจเจกชนที่ถูกคว้านเอาพรสวรรค์ในการเรียนรู้แต่ดั้งเดิมที่ติดตัวมาออกไป แล้วยัดข้อมูลที่เหมือน ๆ กันเข้าไป แล้วก็ทดสอบว่า จำได้หรือยัง ทำตามคำสั่งได้หรือไม่

ที่ผมบรรยายมานี้คือโรงเรียนนะครับ ไม่ใช่โรงงานประกอบหุ่นยนต์ อย่าเข้าใจผิด

ไอ้การที่เราเป็นกังวลกับความจริงที่ว่า เด็กรุ่นใหม่คิดไม่เป็น ทำไม่เป็น ไร้จินตนาการ ด้อยคุณภาพ อันนี้ก็ไม่ต้องโทษใครเลย ก็ระบบการศึกษามันสร้างเขามาเป็นแบบนี้เองไม่ใช่เหรอ จะมาแก้ต่างให้ตัวเองก็คงยาก เพราะผลลัพธ์ของระบบมันแสดงออกมาอย่างเด่นชั้นขนาดนี้แล้วครับ เห็นกันชัด ๆ แบบคาหนังคาเขากันเลยทีเดียว

ผลกระทบจากการเรียนที่บังคับให้เด็กอยู่แต่ในความคิดของตัวเองมากเกินไปเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น มันมีอยู่จริง กระทบต่อสังคมในวงกว้างโดยไม่มีใครรู้ตัวจริง มีตั้งแต่ผลกระทบเล็กน้อย อย่างประเภทคิดเองเออเอง คุยกับใครไม่รู้เรื่อง เรื่องเดียวกันแต่คุยหลายทีก็ไม่จบ เพราะเข้าใจคนละแบบ ไปจนถึง การก่อให้เกิดความตึงเครียด และฆ่าตัวตาย เพราะโลกจริงกับโลกที่เรียนมามันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง บางคนเรียนจบมา รับมือชีวิตไม่ได้ เพราะไม่เคยมีทักษะชีวิตมาก่อน คือถ้าระบบการศึกษามันมีประสิทธิภาพจริง ดีจริง ทุกคนคงจะไม่ต้องมานั่งเรียนรู้กันใหม่แทบจะทั้งหมดหลังเรียนจบ ชนิดที่ว่าเหมือนเริ่มมีชีวิตใหม่อีกครั้งหนึ่งกันเลยทีเดียว

ซึ่งแล้วไอ้ที่เรียนผ่านมาทั้งหมด 10-20 ปีนี่มันคืออะไรล่ะครับ?

มันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องยอมรับความจริงอันนี้ ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อโทษใครสักคน แต่เพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราไม่ยอมรับความจริง ความเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดขึ้น หรือถ้าผู้มีอำนาจในระบบการศึกษาไม่ตระหนักถึงตรงประเด็นอันสำคัญนี้ เราก็ควรจะเปลี่ยนแปลงกันเอง เปลี่ยนจากตัวเรา เปลี่ยนจากข้างใน เมื่อไหร่ก็ตามที่โลกได้มีแบบอย่างแห่งการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เดี๋ยวระบบเก่า คนเก่า ๆ ที่ยังยึดติดในอำนาจ และหวงแหนในอำนาจนั้น จะเริ่มเสื่อมจากอำนาจไปเองครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น