ผมเชื่อว่าแทบจะทุกคน ไม่กล้าถามคำถามเหล่านี้กับลูกตัวเอง เพราะคิดว่าคงไม่มีทางออกให้กับเด็ก เพราะกลัวเด็กจะเลือกทางอื่นที่ตนไม่เข้าใจ เพราะตัวเองก็ผ่านเรื่องน่าเบื่อเหล่านี้มาแบบไม่มีทางเลือก เพราะกลัวจะไม่ได้ใบประกาศซึ่งคนกลุ่มหนึ่งผูกขาดอำนาจทางการศึกษาไว้กับตัวเอง ทุกคนจึงเลือกที่จะเพิกเฉยต่อความเจ็บปวดของเด็กๆ แล้วกดหัวเขาให้ก้มหน้าก้มตาจำใจจำยอมกันต่อไป
หรือถ้ามีคนกล้าถามเด็กๆ บางทีเขาก็ไม่ไว้ใจที่จะตอบตามความเป็นจริง เพราะขืนตอบไปก็จะโดน "เกลี้ยกล่อม" ให้รับความเบื่อนั้นเข้ามาในชีวิตเหมือนๆกับเด็กคนอื่นไปเสียในที่สุด
ผมตอบแทนให้ก็ได้ครับ ว่าเด็กๆเบื่อโรงเรียนทุกคนครับ ไม่ต้องถามก็รู้ ดูจากแววตา กิริยาอาการก็บอกได้ครับ
ที่เขาเบื่อเพราะว่ามันไม่สนุกและเขาไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ตรงไหนของชีวิต เขาเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนเข้ากับชีวิตไม่ได้ มันจึงไม่ใช่สิ่งที่เขาสนใจ ไม่เชื่อลองนึกภาพตัวคุณเองย้อนกลับไปนั่งเรียนในชั้นเรียนแบบนั้นอีกสิบกว่าปี คุณเอาไหม เชื่อได้ว่าไม่มีใครเอาครับ เพราะมันน่าเบื่อ และเนื้อหาที่เรียนกันส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ใช้จริง ใช้เพียงแค่สอบให้ผ่านเท่านั้น และเราไม่ควรปฏิเสธความจริงนี้ด้วย ไม่อย่างนั้นก็จะไม่มีการแก้ปัญหา และปล่อยให้ลูกหลานของเราก้มหน้ารับกรรมไปเรื่อยๆ
นอกจากความเบื่อหน่ายในเนื้อหาในวิธีการสอนที่เขาไม่ได้มีส่วนร่วมกับกระบวนการเรียนรู้นั้นๆ แล้ว ก็ยังมีกฎระเบียบที่เคร่งครัดจริงจัง เป็นพิธีการ จุกจิกจู้จี้ที่กดข่มเขาอยู่อีก อีกทั้งกิจกรรมที่ผู้ใหญ่พยายามคิดที่จะจะปลูกฝังให้เด็กรุ่นแล้วรุ่นเล่า โดยไม่ได้เป็นการริเริ่มจากตัวเด็กเอง ก็มีแต่ล้มเหลวไม่เป็นท่าทั้งนั้น ไม่เชื่อดูเรื่องระเบียบวินัยในบ้านเมืองก็ได้ครับ ล้มเหลวไม่เป็นท่าหมดเลย
จริงๆคำถามที่ผมถามตัวเองเกี่ยวกับระบบการศึกษามีเยอะกว่านี้อีก แต่คงจะค่อยๆเปิด และยิ่งเราเข้าใจปัญหามากยิ่งขึ้นเท่าไหร่ บอกได้เลยว่า ล้มระบบแล้วสร้างใหม่จะง่ายกว่าไปแก้หรือปฏิรูปบนระบบเดิมเยอะเลย เพราะมันเป็นปัญหาแทบทุกจุด โดยเฉพาะตั้งแต่รากฐานของปรัชญาการศึกษาเป็นต้นมา
การเรียนรู้จริงๆของเด็กเกิดขึ้นในโรงเรียนน้อยกว่าจำนวนชั่วโมงเรียนมากอย่างน่าตกใจ เพราะเด็กๆมีแต่ความเบื่อหน่าย สิ่งที่อยู่ในหัวของเด็กๆในห้องเรียนคือ ความเบื่อหน่าย เต็มไปด้วยคำถามที่ว่า เมื่อไหร่จะจบ เมื่อไหร่จะเลิก เมื่อไหร่จะพักกลางวัน เมื่อไหร่จะได้เล่นกับเพื่อน เมื่อไหร่จะได้กลับบ้าน เมื่อไหร่จะเสาร์อาทิตย์เสียที ทั้งหมดนี่มันต่างจากคุกตรงไหนครับ มันไม่ต่างเลย
เมื่อเด็กๆเต็มไปด้วยความรู้สึกเหล่านี้แล้ว จะมีสติปัญญาเท่าไหร่มันก็ไม่ทำงานครับ เหมือนเจอคลื่นแทรก ต่อให้มีพรสวรรค์ สุดท้ายมันก็ไม่ทำงานอีกเหมือนกัน เพราะมัวแต่กังวลว่าจะสอบผ่านหรือเปล่า พูดง่ายๆว่าฟังก์ชั่นตามธรรมชาติของเด็กหยุดทำงานจนหมด เพราะไม่รู้ว่าครูจะยัดเยียดอะไรให้ พรสวรรค์ของตนเองจะถูกมองข้ามไหม ได้แต่สงวนท่าทีอยู่ในความหวาดหวั่นตลอดเวลา
ถ้าจะบอกว่าฝึกเอาไว้ จะได้ออกมาเผชิญโลกจริงได้ ก็ไม่ใช่ เพราะโลกจริงมันไม่เหมือนในโรงเรียนเลยแม้แต่นิดเดียว เห็นจบมาก็ทำอะไรไม่เป็น ต้องมาเรียนรู้กันใหม่หมดทั้งนั้น เราจะสอนให้เขาชินกับสภาพของความเป็นคุก เพื่อที่จะให้เขาออกมาอยู่ในอีกคุกหนึ่งนอกโรงเรียนกันอย่างนั้นหรือ
นอกจากความเบื่อหน่ายแล้ว เด็กๆก็มีแต่ความกลัว เพราะระบบการศึกษาอันใหญ่โต เคร่งเครียด เอาจริงเอาจัง เป็นระเบียบเด็ดขาด สามารถตัดสินชี้ผิดชี้ถูก ตัดสินอนาคตเขาได้ง่ายๆ มันก็กดข่มเขา ทำให้เขากลัว ทำให้เด็กๆรู้สึกเหมือนอยู่ในคุก กลัวว่าจะมาโรงเรียนสาย กลัวโดนทำโทษ กลัวเรียนไม่รู้เรื่อง กลัวเรียนไม่ทันเพื่อน กลัวสอบตก กลัวสอบไม่ผ่าน กลัวครูว่า กลัวผิดระเบียบ กลัวว่าตัวเองจะไม่เหมือนเพื่อนๆ กลัวว่าจะเรียนไม่เก่ง กลัวว่าพ่อแม่จะผิดหวัง ฯลฯ
ลองคิดดูนะครับว่า ถ้าคุณสอบหรือทำการบ้านได้คะแนนศูนย์หรือคะแนนต่ำตลอดเวลา จะเป็นยังไง สุดท้ายสิ่งเหล่านี้มันจะกลายเป็นปมด้อยเขาขึ้นมาจริงๆ เขาจะตอกย้ำอยู่เสมอว่าตัวเองแย่ ตัวเองไม่ดี หนักเข้าอาจจะไปฆ่าตัวตายหนีปัญหาเอาได้
สรุปแล้ว เด็กๆมีแต่ความเบื่อกับความกลัวอยู่เต็มหัวใจตลอดชีวิตวัยเด็กของเขา ชีวิตเคร่งเครียดตั้งแต่เด็กๆนั้นจะฝังลึกลงไปในใจ จนกลายเป็นวิถีที่เขานำไปปฏิบัติต่อทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต เรียนก็เบื่อจะแย่อยู่แล้ว จบมาก็ต้องมาเบื่อทำงานที่ไม่ชอบอีก เรายัดเยียดให้เด็กเคยชินกับความเบื่อตั้งแต่ยังเล็กกันโดยไม่รู้ตัว ตอนนี้ในสังคมก็เลยเต็มไปด้วยคนน่าเบื่อที่สร้างกระแสความน่าเบื่อปกคลุมตนเองและผู้อื่น จนกลายเป็นวงจรอุบาทว์ จะออกก็ออกไม่ได้ อยู่ก็มีแต่ทรมาน
และแม้เด็กจะได้ครูดีที่สุด สอนสนุกที่สุดแล้ว ความตึงเครียดเหล่านี้ก็ยังมีอยู่ เพราะมันเป็นเพียงความสนุกผิวเผินที่กลบเกลื่อนความขมเอาไว้ ในขณะที่ใจเขาไม่ได้เชื่อมโยงกับเนื้อหาที่เรียนเลย สุดท้ายเรียนไปก็ลืมเหมือนกันหมด ต้องกล้ำกลืนฝืนจำเพื่อสอบให้พ้นๆไป
เด็กที่ปรับตัวได้ในโรงเรียนก็ใช่ว่าจะดีนะครับ ดูภายนอกอาจจะดี เขาแค่ทำไปตามความคาดหวังของพ่อแม่แล้วก็รีบลืมๆมันเสีย เพราะตัวเองไม่มีทางเลือก หรือไม่รู้ว่ามีตัวเลือก และเพื่อไม่ให้มีเรื่องมีราวขัดแย้งใหญ่โตบานปลายออกไปมากกว่านั้น พอนานวันเข้าก็เลยถูกล้างสมองว่าไม่มีทางเลือกอื่นอีก แม้จะดูดีจากภายนอก แต่เขาจะเก็บปมเหล่านั้นเอาไว้ในใจและรอวันงอกเงยแตกยอดกลายเป็นต้นเหตุของปัญหาอื่นๆในชีวิตอีก
ถ้าคุณถอดหัวโขนความเป็นพ่อเป็นแม่เป็นครูออกแล้วไปลองถามเด็กสิครับ ว่าเบื่อไหม คุณจะได้ความจริงที่คุณแทบจะรับไม่ได้เลยทีเดียว
การที่เรายอมรับความเบื่อและความกลัวเข้าไปในชีวิตนี่ มันดีตรงไหนครับ ตัวพ่อแม่เองก็ลองอาศัยอยู่กับความเบื่อหน่ายและความกลัวแบบลูกดูก็ได้ว่ามันสนุกไหม ที่เด็กเขากลบเกลื่อนว่าดูดีก็เพราะผู้ใหญ่มองแต่ภายนอกว่าเขาเรียบร้อยดี เรามองเขาในแบบที่เราพอใจจะมอง มองในสิ่งที่ตัวเองเชื่อว่าเด็กเป็นแบบนั้น แต่ไม่ได้เข้าใจถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับเขาเลย
เราจะรู้ถึงความรู้สึกลึกๆของเขาได้ยังไง ในเมื่อเรายังไม่กล้าที่จะเปิดใจถามคำถามข้างต้นแม้กระทั่งกับตัวเอง เพื่อสำรวจความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ถ้าเรายังปฏิเสธความเป็นจริงนั้นอยู่ด้วยการเบือนหน้าหนี หรือตอบโต้ด้วยการอธิบายเหตุผลโน้มน้าวและเกลี้ยกล่อม แล้วมีหรือที่เขาจะกล้าเปิดใจคุยกับเรา มีหรือที่จะแก้ปัญหากันได้อย่างแท้จริง
สิ่งต่างๆเหล่านี้ที่เกิดจากระบบการศึกษาเอง ที่เป็นสิ่งที่บดบังการเรียนรู้ของเด็กไปจนหมดสิ้น
การสอน กับ การเรียนรู้ มันคนละเรื่องกัน
ครูสอนได้ เด็กเข้าใจได้ ทำการบ้านได้ สอบผ่านได้ แต่เด็กก็จำเนื้อหาที่เรียนเอาไว้เพื่อที่จะสอบให้ผ่านเฉยๆแค่นั้น จำเอาไว้เพื่อที่จะทำการบ้านเฉยๆแค่นั้น การเรียนในโรงเรียนจึงถูกเบี่ยงเบนจากการเรียนรู้ที่แท้จริงของเด็ก ไปเป็นการเอาตัวรอดจากการทำการบ้านและการสอบการประเมินผลเท่านั้น การเรียนรู้กลายเป็นเรื่องรองลงไป
นี่ก็เป็นอีกเหตุหนึ่งที่เราทุกคนจำเนื้อหาที่เรียนในสมัยเด็กๆไม่ได้นั่นเอง หรือไม่ก็ลองถามเด็กดูก็ได้ว่าไอ้ที่เรียนน่ะ เรียนไปทำไม เรียนเอาไปใช้ตรงไหน แล้วก็อย่าลืมบอกความจริงกับเด็กๆด้วยนะครับว่า ที่เรียนมาทั้งหมดเป็นสิบกว่ายี่สิบปี จะได้ใช้จริงก็แค่อ่านออกเขียนได้ บวกลบคูณหารเท่านั้นเอง
นอกจากที่ระบบการศึกษาได้บดบังการเรียนรู้ของเด็กๆไปจนหมดแล้ว ประสิทธิผลของระบบการศึกษาก็ยังต่ำมากๆด้วย เมื่อเทียบกับเวลาและเงินทองที่เสียไป และไม่ว่าระบบการประเมินผลจะดี และซับซ้อนยังไงก็ตาม มันก็ปฏิเสธความเป็นจริงนี้ไปไม่ได้เลย เพราะปัญหามันไม่ได้อยู่ตรงการประเมินให้ได้มาตรฐาน มันอยู่ตรงที่ระบบการศึกษานั้นขัดแย้งกับธรรมชาติกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์อย่างรุนแรง ลองผิดลองถูกก็ไม่ได้ เดี๋ยวโดนทำโทษ ทั้งๆที่ผู้ใหญ่เอง เรียนจบมาก็ยังต้องลองผิดลองถูกกับชีวิตกันแทบทุกคนกว่าจะประสบความสำเร็จ
สำหรับเด็กที่ยังจำเป็นต้องอยู่ในระบบโรงเรียนนั้น ก็แนะนำว่าอย่าไปเคร่งเครียดกดดันกับการเรียนของเขาให้มากนัก เพราะสุดท้ายมันก็อ่านออกเขียนได้กันทุกคนอยู่แล้ว เราควรจะเรียนรู้ชีวิตมากกว่าเรียนหนังสือ เพราะหนังสือมันคือความรู้มือสองที่ถูกเขียน ถูกชำแหละเป็นส่วนๆออกมาจากชีวิตจริงอีกทีหนึ่ง ซึ่งเนื้อหาของมันล้าสมัยเร็วมาก ไม่ได้สดใหม่อย่างที่เราเจอในชีวิตจริง ไม่ทันกระแสโลก โลกมันเปลี่ยนไปทุกวัน แต่หนังสือเรียนใช้กันมาเป็นสิบปียังไม่เปลี่ยน ยิ่งเรียนหนังสือ หมกมุ่นกับหนังสือมากๆ ยิ่งทำให้เราติดในความคิดมากเกินไป ผิดกับการเรียนในชีวิตจริง ที่ความรู้สดใหม่แนบแน่บกับชีวิตจริงมากกว่า และเด็กๆรู้ว่ามันมีประโยชน์กับตัวเขาอย่างแน่นอน และอะไรที่มีประโยชน์กับเขาจริงๆ ก็จะเกิดการจดจำ เกิดการทำซ้ำ เกิดการพัฒนา เกิดการต่อยอดจนกลายเป็นความชำนาญ และถ่ายทอดให้คนอื่นได้ในที่สุด
ที่เราเห็นผู้ใหญ่จำนวนมากมาย ไม่มีทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือหยุดกระบวนการเรียนรู้ลงเมื่อเรียนจบ เวลาจะสอนให้ทำอะไร ก็ต้องคอยป้อนข้อมูลคอยยัดให้อยู่ตลอด คิดเองก็ไม่เป็น เรียนรู้เองไม่ได้ ก็เพราะว่า มันโดนบีบคั้นกดดันกันมาเยอะแล้วจากการเรียนอันตรากตรำยาวนาน กระบวนการที่เกิดขึ้นในโรงเรียนทั้งหมดได้ทำให้การเรียนรู้กลายเป็นยาขมสำหรับทุกคนไปโดยไม่รู้ตัว ลึกๆแล้ว ทุกคนจึงปฏิเสธการเรียน อยากจะเล่นอย่างเดียวเพื่อชดเชยสิ่งที่ขาดหายไปในวัยเด็ก ไม่มีใครอยากจะเรียนอะไรอีกเลยถ้าไม่ถูกบังคับหรือเจอสถานการณ์บีบคั้นให้ต้องเรียน จบมันเอาไว้แค่ในโรงเรียนก็พอ
นอกจากระบบการศึกษาจะบดบังการเรียนรู้ที่แท้จริงของเด็กแล้ว ยังไปทำลายกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตของเขาด้วย ซึ่งก็มีหลายคนที่หลุดรอดจากความเสียหายนั้นมาได้ แต่ก็ต้องใช้เวลาฟื้นฟูและเรียนรู้อีกนานกว่าจะเข้าใจความเป็นจริงในมุมมองที่เป็นธรรมชาติของตน ไม่ใช่ด้วยวิธีคิดที่ได้รับจากการเรียนการสอนที่ทำให้มองโลกเหมือนๆกันหมด มีปัญหาก็มีปัญหาเหมือนๆกันหมด เรียกว่าเสียเวลาโดยใช่เหตุไปเป็นสิบๆปี เพื่อจะแทนที่กระบวนการเรียนรู้ตามธรรมชาติที่มีในทุกคนอยู่แล้ว ด้วยระบบการศึกษาแบบอุตสาหกรรม
อย่าลืมนะครับว่า ทุกคนก็เป็นมนุษย์ที่มีความแตกต่างกันในทุกๆด้าน ระบบการศึกษาก็ควรจะปฏิบัติต่อนักเรียนในแบบมนุษย์ด้วยเช่นกัน เคารพความแตกต่างซึ่งกันและกัน เปิดโอกาสให้ใช้ธรรมชาติในการเรียนรู้ที่มีในแต่ละบุคคลเป็นหลักในการเรียนรู้ของเขาเอง เด็กๆไม่ใช่ปลากระป๋องที่จะต้องผลิตให้ได้มาตรฐานเหมือนๆกันหมดอย่างเช่นในปัจจุบัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น