วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เรื่องเล่นๆที่ไม่ใช่เล่นๆ: กระบวนการเรียนรู้โดยธรรมชาติของเด็ก


เคยสงสัยกันไหมครับว่าทำไมการเล่นถึงได้เป็นเรื่องใหญ่สำหรับเด็กๆ
เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมเด็กๆถึงเล่นได้ทุกที่ทุกเวลา
เคยสงสัยไหมครับว่าเด็กๆได้อะไรจากการเล่น
เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมเมื่อเราห้ามเด็กๆเล่นแล้วเขาจึงหดหู่ เศร้าซึม
เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมเด็กถึงไม่ชอบไปโรงเรียน
เคยสงสัยกันไหมครับว่า ทำไมการเล่นของเด็กๆจึงมีความหมายมากสำหรับเขา ทั้งๆที่เราเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระ

การเล่นของเด็กๆนั้น แท้จริงคือกระบวนการที่เด็กๆใช้เรียนรู้ทุกๆอย่างบนโลกใบนี้

กระบวนการเล่นของเด็กเป็นวิธีการที่ทำให้เด็กลดความตึงเครียดในการเผชิญหน้าและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆที่เขาไม่รู้จัก ไม่เชื่อก็ลองด้วยตัวเองก็ได้ครับ ลองพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่หมดเลย ไม่คุ้นเคย ไม่รู้จักอะไรเลย และห้ามเล่น ห้ามลองผิดลองถูก ห้ามแตะต้องอะไรดูก็ได้ว่าจะตึงเครียดแค่ไหน ที่เราเครียดก็เพราะความคาดหวังทั้งจากตัวเองและคนอื่น ที่หวังว่าเราจะรู้เรื่อง จะเข้าใจ จะพึ่งได้ จะทำงานได้ แต่ดันปิดกั้นวิธีการเรียนรู้ตามธรรมชาติของเราหมดเลย แล้วจะเรียนรู้ได้ยังไง

เด็กๆก็เหมือนกัน เมื่อเขาเกิดมาบนโลกใบนี้ เขาไม่รู้อะไรเกี่ยวกับสิ่งที่ดำเนินอยู่บนโลกนี้เลย ถ้าเราไปคาดหวังกับเขาเยอะ ปิดกั้นหรือจำกัดเขาเอยะ หรือลองนึกเล่นๆว่าถ้าเขาคาดหวังกับตัวเองเยอะ สุดท้ายเขาก็จะเครียดครับ กลไกธรรมชาติจึงให้การเล่นมาพร้อมกับเด็กๆทุกคนเอาไว้สำหรับเรียนรู้สิ่งต่างๆ

และแม้ว่าเขาทำเหมือนเล่นๆ แต่โดยมุมของเด็กเอง เขาไม่ได้เล่นนะครับ เขากำลังเรียนรู้สิ่งต่างๆด้วยวิธีของเขาเอง เขาต้องลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ เป็นวิธีที่ทำให้เขาเข้าใจโลก เข้าใจสิ่งต่างๆอย่างสนุกสนาน และเป็นวิธีที่ไม่ทำให้เขาตึงเครียดด้วย ฉลาดไหมล่ะครับ ไม่เหมือนผุ้ใหญ่ที่เรียนรู้ไปก็เบื่อไป ขมขื่นผะอืดผะอมไป

ไม่เชื่อก็ลองนึกย้อนไปดูว่าสิ่งที่คุณจำได้ติดตาติดใจมาจนทุกวันนี้ได้มาจากการร่ำเรียนที่เคร่งเครียดน่าเบื่อน่าง่วงนอนกี่เรื่อง ได้มาจากการเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่าสมัครใจและสนุกสนานกี่เรื่อง แค่นี้ก็บอกได้แล้วครับว่า วิธีการที่เด็กๆเรียนรู้สิ่งต่างๆนั้นคือวิธีที่ฉลาดที่สุดแล้วตามธรรมชาติ แต่ผู้ใหญ่ดันคิดว่าตัวเองฉลาดกว่าเลยเอาระบบเข้ามาครอบความเป็นธรรมชาติของเด็กๆ

นอกจากการเรียนรู้โลกใบนี้ด้วยการเล่นแล้ว เขาก็ได้เรียนรู้ในการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ปฏิสัมพันธ์กับเด็กด้วยกัน กับคนต่างวัย ได้เรียนรู้กติกาสังคม ได้เรียนรู้มารยาทในการเข้าสังคม ได้เรียนรู้วิธีการเข้าสังคม การต่อรอง การรับมือสถานการณ์ต่างๆในชีวิต ฯลฯ ทั้งหมดนี้ก็ได้มาจากการเล่นทั้งนั้น

เด็กๆไม่ได้เล่นอย่างเดียวนะครับ เมื่อเติบโตขึ้น การเล่นของเขาหรือวิธีการเล่นการเรียนรู้ของเขา จะเติบโตพัฒนาขึ้นไปด้วยพร้อมๆกัน กระบวนการจะสลับซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ เขาจะพัฒนาวิธีการเรียนรู้และเข้าถึงสิ่งต่างๆได้ด้วยตัวเอง อันเป็นพื้นฐานของการศึกษาตลอดชีวิตอย่างที่เรารณรงค์กันมาแทบเป็นแทบตายอยู่หลายปีแต่ไม่เคยสำเร็จ ก็เพราะระบบการศึกษาที่ผู้ใหญ่คิดเองเออเองแล้วยัดใส่หัวเด็กมันปิดกั้นปิดบังเขาอยู่โดยตลอด

การเรียนรู้ที่แท้จริงไม่ควรจะมีความกดดันใดๆ ไม่ควรจะมีความคาดหวังใดๆมาเป็นอุปสรรคหรือเบี่ยงเบนจุดมุ่งหมายในการที่จะศึกษาเรียนรู้ หรือก่อให้เกิดความเครียดในการเรียนรู้ ไม่อย่างนั้นผู้เรียนรู้จะเกิดอาการเกร็ง เครียด เบื่อหน่าย อยากจะไปให้พ้นๆจากการเรียนรู้นั้นเสีย เปลี่ยนประเด็นมุ่งเป้าไปที่การตอบสนองความคาดหวังที่มากดดันเขามากกว่าที่จะสนใจความรู้จริงๆ และที่สุดแล้วจิตลึกๆของผู้เรียนรู้เองก็จะปฏิเสธการเรียนรู้และเนื้อหาที่ได้จากการเรียนรู้นั้น เพราะมันทำให้เขาทุกข์และเขาก็ไม่รู้จะเอาไปใช้กับส่วนไหนของชีวิต มันไม่สนุกและไม่มีประโยชน์ต่อเขาจริง แม้ว่าเราจะพูดล้างสมองเขาทุกวันก็ตาม  นี่คือเหตุผลที่เด็กๆมักจะลืมเนื้อหาที่เรียนไปแล้วเกือบจะทั้งหมด เมื่อสอบเสร็จ การเรียนในระบบการศึกษาจึงแทบจะเป็นการเรียนที่สูญเปล่าจริงๆ

ถ้าจะเถียงก็ลองถามตัวเองดูก็ได้ว่า ตัวคุณเองจำอะไรจากการเรียนหนังสือได้บ้างนอกจากการอ่านออกเขียนได้ และบวกลบคูณหารเป็น ลองถามตัวเองว่าเวลาคุณเรียนหนังสือ จุดมุ่งหมายของคุณคืออะไร ให้ได้ความรู้เอาไปใช้งานในชีวิตจริง หรือแค่การสอบให้ผ่านเกณฑ์เท่านั้น?

เหตุนี้เอง เมื่อเวลาเราไปห้ามเด็กๆไม่ให้เล่น เขาจึงหงุดหงิดและห่อเหี่ยว ถ้าไปห้ามมากๆอาจจะถึงขนาดซึมเศร้าเอาเลยทีเดียว และถ้าเราไปขัดขวางกระบวนการเล่นการเรียนรู้หนักๆเข้า เอากระบวนการเรียนรู้ที่ผู้ใหญ่คิดเองเออเองไปยัดให้เขาโดยที่เขาไม่เต็มใจ พัฒนาการในด้านการเรียนรู้ด้วยตนเองของเขาจะหยุดชะงักและหมดลงไปในที่สุด

รู้หรือไม่ว่าระบบการศึกษาได้ทำลายกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆลงไปโดยแทบจะสิ้นเชิง เพราะเพียงแค่เราไม่ยอมรับวิธีการการเรียนรู้โดยธรรมชาติของเด็กๆ เราเห็นว่ามันไร้สาระ และไม่มีประสิทธิภาพ เราเห็นว่าเด็กๆควรจะได้รับการสอนอย่างจริงจัง เด็กๆต้องมีระเบียบวินัย ต้องเอาจริงเอาจัง ต้องวัดผลได้ ต้องผ่านเกณฑ์ ไม่ใช่เล่นๆอย่างที่เด็กๆเล่นกันทุกวัน

พ่อแม่ผู้ปกครองก็พร่ำบอกตัวเองและลูกหลานว่า เดี๋ยวเด็กก็ชินกับการเรียนรู้ในระบบโรงเรียนไปเอง โดยหารู้ไม่ว่าไอ้การชินกับโรงเรียนนี้ คือการที่เขาถูกทำลายไปเรียบร้อยแล้วโดยระบบ เมื่อเด็กเริ่มชินกับโรงเรียน นั่นก็แปลได้ว่า กระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเองเบื้องต้น หรือภาษาอังกฤษที่เรียกว่า self-directed learning process ที่ติดตัวเขามาตั้งแต่เกิดได้ถูกทำลายลงไปแล้ว เด็กที่เรียนในระบบโรงเรียนจึงต้องถูกสอน ต้องได้รับการสอน ต้องถูกชี้นำ ด้วยอาการยัดเยียดให้เป็นไปตามเกณฑ์ ตามวัตถุประสงค์ สุดท้ายก็จะเริ่มต้นเรียนรู้ด้วยตัวเองไม่ได้ เพราะระบบการเรียนการสอนนั้นมันซับซ้อนเกินกว่าเขาจะเข้าใจมันได้ พอๆกับอำนาจล้นฟ้าของคนจัดการการศึกษาที่สามารถชี้เป็นชี้ตายอนาคตเด็กได้ สุดท้ายก็ต้องยอมระบบ เด็กๆต้องรอให้ครูป้อนข้อมูลอย่างเดียวไปเกือบจะตลอดชีวิตที่ควรจะได้เรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติของเขา และที่สุดก็จะกลายเป็นแค่แรงงานหุ่นยนต์ที่คิดเองไม่เป็น ไม่กล้าหาญอาจหาญกับชีวิตตน สุดท้ายก็มีปัญหากับชีวิตตนเอง ขัดแย้งในตัวเองและผู้อื่น โดยที่ไม่รุ้เลยว่า สิ่งที่รับมาจากระบบนั้นแหละที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในใจเขา

เชื่อว่าผู้ปกครองหลายๆท่านน่าจะคุ้นเคยกันดี ที่ได้เห็นว่าลูกหลานของตนทำอะไรไม่เป็น พึ่งตัวเองไม่ได้ นอกจากแต่งตัวสวยๆหล่อๆ เล่นแต่มือถือ เล่นเกม ร้องขออาหารอร่อยๆ และแบมือของเงิน ขนาดเดินออกไปซื้อข้าวกินหน้าปากซอยยังทำเองไม่ได้

คนที่พึ่งพาตนเองไม่ได้ในทางการศึกษาการเรียนรู้นี่ สุดท้ายมันก็ต้องไปพึ่งระบบ ระบบก็มีข้อจำกัดของมันมากมาย พอเราต้องไปพึ่งพาให้คนอื่นสอนไปทุกเรื่อง การผูกขาดทางด้านการศึกษามันก็เกิดขึ้น ทั้งๆที่แหล่งความรู้ในอินเทอร์เน็ตนั้นมากมายมหาศาลและมีเพียงพอแล้วที่จะปลดแอกผู้คนออกจากระบบการศึกษาที่ทำลายสัญชาติญาณการเรียนรู้ของเด็กแทบจะสิ้นเชิง แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่กล้า เพราะบ้าแต่ใบรับรอง ใบประกาศ ใบปริญญา

ระบบการศึกษาโดยตัวมันเองนั้น ถูกสร้างขึ้นมารองรับระบบเศรษฐกิจหรือแนวทางการปกครองอย่างใดอย่างหนึ่ง สร้างคนที่รองรับการทำงานแบบไม่ต้องตั้งคำถามมาก รองรับงานที่ต้องทำซ้ำๆ โดยไม่ต้องใช้ความคิดริเริ่มใดๆเลย สร้างคนให้ยอมรับว่าความเบื่อหน่ายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตนับตั้งแต่เรียน ทำงาน และตายไปพร้อมกับความเบื่อหน่าย แล้วผลผลิตจากระบบการศึกษาก็ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย ตั้งแต่ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียม ปัญหาด้านอาชญกรรม และ ด้านเศรษฐกิจครัวเรือน ฯลฯ

คือถ้าสังเกตกันสักนิด เราจะรู้ว่า คนที่ประสบความสำเร็จในสังคมโลก ในปัจจุบัน คนที่คิดค้นสิ่งใหม่ๆ คนที่โดดเด่นกว่าคนอื่นๆนั้น ล้วนแล้วแต่ศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง ฝึกฝน ทดลอง ลองผิดลองถูก คิดค้น และหาข้อสรุปด้วยตัวเองทั้งนั้น ไม่ได้เป็นผลมาจากระบบการศึกษาแต่อย่างใด ที่ระบบการศึกษาทำนั้น ก็เป็นเพียงสร้างแรงงานราคาถูกป้อนระบบเท่านั้นเอง

แค่การผูกขาดระบบการศึกษาให้อยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็สามารถทำลายอารยธรรมมนุษย์ได้ขนาดนี้เลยทีเดียว และผลของมันก็เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมแล้วในปัจจุบัน เราจึงมีเด็กด้อยไอคิว ด้อยอีคิว ขาดไหวพริบ ขาดทักษะการเรียนรู้ หยิ่งยโสโอหัง แต่ทำอะไรไม่เป็น มีปัญหาในการปรับตัว อยู่แต่ในความคิดตัวเอง ฯลฯ เพิ่มขึ้นมาเป็นจำนวนมาก

ถ้าคุณรักลูก อยากให้ลูกคุณฉลาด มีไหวพริบ แก้ปัญหาเก่ง พึ่งพาตัวเองได้ และร่าเริงเบิกบาน ไม่ใช่เคร่งเครียดจริงจังไร้ชีวิตชีวาหรือเบื่อหน่ายไปทุกเรื่อง ก็อย่าไปขัดขวางกระบวนการเล่นของเขา ให้เขาเล่นเต็มที่ในกรอบในกติการที่คุณตกลงกับเด็ก อย่ายัดเยียดให้เขาต้องเรียนรู้สิ่งต่างๆในวิธีการที่ไม่ใช่ธรรมชาติของเขา

สิ่งที่เราควรทำก็แค่ตกลงกติกากันก่อนเล่น ว่าอะไรเล่นได้หรือเล่นไม่ได้ ตกลงกรอบร่วมกันให้ชัด แต่วิธีการเล่นการเรียนรู้สิ่งต่างๆ เราต้องปล่อยให้เป็นธรรมชาติของเขาเอง เราต้องให้อิสระในการเล่นการเรียนรู้ อะไรที่ต้องปรึกษาผู้ใหญ่หรือต้องให้ผู้ใหญ่สอน เพราะอาจจะก่อให้เกิดอันตราย หรือต้องการความชำนาญในการใช้งานมากว่าที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ ก็ให้บอกเด็กไปตรงๆ สิ่งนี้จะสร้างวินัยขึ้นเองโดยไม่ต้องยัดเยียด หน้าที่เรามีเพียงเอื้ออำนวยให้เขาเกิดการเรียนรู้ ไม่ใช่ไปกำกับหรือบังคับ เราแค่เฝ้าดูอยู่ห่างๆ แบบไม่ต้องไปวิตกจริตอะไร ทำตัวเป็นที่ปรึกษาที่ดี ไม่ตัดสินเขา ไม่งั้นเดี๋ยวเขาจะเกร็งจะเคร่งเครียดอีก แล้วมันจะกลายเป็นการขัดขวางกระบวนการเรียนรู้ของเขาในที่สุด

ส่วนเด็กที่อยู่ในโรงเรียนก็สามารถพัฒนาทักษะการเล่นของเขาได้เช่นกัน จะเรียนก็เรียนไป ไม่ต้องเคร่งเครียดเอาจริงเอาจัง เราต้องมีเวลาว่างปล่อยให้เขาได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านการเล่น การลองผิดลองถูกควบคู่กันไปด้วย

อย่าไปหวังพึ่งระบบการศึกษาหรือการปฏิรูประบบการศึกษาอะไรเลย ถ้าคนในระบบการศึกษายังกลัวสูญเสียอาชีพ กลัวสูญเสียที่ยืน กลัวสูญเสียตำแหน่ง อำนาจ ผลประโยชน์ กลัวความเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างนี้ เราปลดแอกการศึกษาเองเลยจะดีที่สุด อย่าให้ใครมาผูกขาดการศึกษาของเรา เพราะสุดท้ายเราเองต้องเป็นคนที่รับผลของมัน และอย่างน้อยก็สามารถทำได้ทันทีไม่ต้องพึ่งคนอื่นที่มัวแต่คิดถึงผลประโยชน์ตัวเองอยู่อย่างเดียว

ก็คนที่คิดถึงแต่ตัวเอง มันก็ทำเพื่อตัวเองทั้งนั้น จริงไหมครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น