วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2558

พื้นฐานและธรรมชาติความเป็นมนุษย์

ก่อนที่เราจะปฏิรูปการศึกษา เราควรจะเข้าใจพื้นฐานและธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ก่อน ไม่อย่างนั้นหากปฏิรูปไปแล้ว มันก็จะไม่ได้แก้ปัญหาที่รากฐานอย่างแท้จริง ปัญหาเก่าๆจะถูกแทนที่ด้วยปัญหาใหม่ไม่รู้จบเช่นที่เคยเป็นมา และระบบการศึกษาก็จะล้มเหลวซ้ำๆอยู่อย่างนั้นไม่มีวันที่จะแก้ไขได้เลย

ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์นั้นถูกออกแบบมาให้อยู่กันอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติของโลก ของน้ำ ของดิน ของป่า ของพืชพรรณ ของฤดูกาล ของจุลชีพเล็กๆมากมายในธรรมชาติ ของคาบเวลาตามธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้เป็นข้อจำกัดและสิ่งแวดล้อมพื้นฐานของมนุษย์ซึ่งไม่ควรละเมิด หากผิดไปจากธรรมชาติแล้ว ชีวิตก็จะมีแต่ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสุขภาพกายและใจ และปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของมนุษย์ก็คือคิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าธรรมชาติ เข้าใจตัวเองดีกว่าธรรมชาติ ก็เลยสร้างสิ่งที่ผิดธรรมชาติขึ้นมาตามความรู้อันคับแคบของตน ซึ่งกลายเป็นต้นกำเนิดปัญหาตามมาอีกมากมายไม่รู้จบ

การศึกษาที่แท้จริงของมนุษย์ควรจะเป็นการศึกษาที่ยืนอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ อยู่บนพื้นฐานที่ว่าเรากับธรรมชาติไม่อาจแบ่งแยกกันได้ ไม่ใช่แบ่งแย่งตัวเราออกมาเป็นปัจเจกบุคคลแล้วปฏิบัติต่อธรรมชาติรอบตัวเราเป็นเพียงแค่ทรัพยากรรอเราใช้ หรือเป็นแค่วัตถุนอกกายที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเราแม้แต่น้อย มนุษย์กับธรรมชาตินั้นเป็นหนึ่งเดียวกันไม่สามารถแยกออกจากกันได้ น้ำ อากาศ และอินทรีย์วัตถุ ไหลเวียนเข้าออกจากร่างกายมนุษย์ตลอดเวลาเพื่อแลกเปลี่ยนกับสิ่งแวดล้อมภายนอก มนุษย์จึงไม่สามารถแยกออกจากธรรมชาติได้เลย หากเราละเลยความจริงข้อนี้ในการให้การศึกษากับเด็กๆ อย่างที่ผ่านมา สิ่งแวดล้อมของโลก ระบบนิเวศน์ที่เราอาศัยอยู่ก็จะไม่มีวันฟื้นคืนสภาพเดิมได้เลย

การศึกษาที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติของมนุษย์นั้น ไม่ใช่การเรียนการสอนแบบยัดเยียด ตั้งโปรแกรม หรือแข่งขันเอาเป็นเอาตาย แต่โดยธรรมชาติของมนุษย์นั้นจะมีพื้นฐานที่เชื่อมโยงองค์ความรู้ต่างๆเข้ากับสภาพแวดล้อมรอบตัวเอง ด้วยการซึมซับและค่อยๆเรียนรู้ไปเองโดยอัตโนมัติ หรือที่เราเรียกว่าการเรียนจากประสบการณ์ ไม่ใช่การยัดเยียดให้จำอย่างรวดเร็ว คิดเป็นระบบ เรียนเป็นระบบแบบโปรแกรมหุ่นยนต์แบบที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งแม้ว่าเราเป็นสัตว์โลกที่สามารถคิดหรือจินตนาการในสิ่งที่ซับซ้อนได้ แต่การที่เราไม่รู้ไม่เข้าใจหรือเพิกเฉยต่อข้อจำกัดของธรรมชาติและมนุษย์เอง ก็ทำให้ความคิดและจินตนาการทั้งหลายอันเลื่อนลอยเหล่านั้นกลับมาทำร้ายมนุษย์เองอยู่บ่อยๆ

มนุษย์ที่อาศัยอยู่กับธรรมชาติอย่างใกล้ชิดนั้น จะไม่มีความเหิมเกริม อหังการ แต่จะมีความอ่อนน้อมและเคารพต่อธรรมชาติ เพราะเข้าใจข้อจำกัดของตนและธรรมชาติเป็นอย่างดี การได้อยู่กับธรรมชาติอย่างใกล้ชิดทำให้ต้องปรับตัวตามธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป ให้มนุษย์ปรับตัวเองได้ดี มีศักยภาพในการพึ่งพาตนเองสูง จึงเอาตัวรอดจากธรรมชาติได้

แต่มนุษย์ซึ่งถูกแยกออกมาจากธรรมชาติ มาอยู่ในสถานที่ๆสร้างด้วยน้ำมือตนเอง ดำรงอยู่ได้ด้วยสิ่งที่มนุษย์สร้าง เพื่อควบคุมสภาพแวดล้อมให้เป็นไปอย่างที่ตนต้องการ ศึกษาทุกสิ่งจากการนึกคิดปรุงแต่งเอาในสมอง มนุษย์เหล่านี้จะมีความเป็นปัจเจกสูง แยกตัวออกจากธรรมชาติ หลงคิดว่าตนมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ เห็นสิ่งอื่นนอกจากตัวเองเป็นเพียงวัตถุสิ่งของ เป็นเพียงทรัพยากร เป็นเพียงสถิติตัวเลข ไม่เชื่อมโยงกับระบบนิเวศน์รวม แล้วก็นึกว่าตัวเองอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งธรรมชาติหรือสิ่งอื่น สิ่งเหล่านี้เองที่สร้างปัญหาให้กับมนุษย์ตลอดมา และไม่มีวันที่จะแก้ไขมันได้

การแก้ปัญหาการศึกษาของมนุษย์จึงไม่ใช่การคิดอะไรใหม่ หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ให้มันซับซ้อนพะรุงพะรังเหมือนที่ผ่านๆมา หากยังเข้าไม่ถึงแก่นแท้ของการศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์ ต่อให้จะมีเงินมากมายหรือใช้นวัตกรรมที่สุดยอดแค่ไหนมันก็จะยังล้มเหลวเหมือนเดิม เพราะสิ่งพะรุงพะรังเหล่านั้นมีแต่จะไปปิดบังเนื้อหาแก่นแท้ของการศึกษาไปจนหมดสิ้น

ซึ่งถ้าจะแก้ปัญหาการศึกษาก็ควรจะทำให้มันเรียบง่ายขึ้นให้เป็นธรรมชาติเดิมๆของมนุษย์มากที่สุด เป็นการศึกษาเพื่อมนุษย์ ไม่ใช่เพื่อสร้างแรงงานป้อนระบบ ต้องกำจัดสิ่งที่ลดทอน กัดกร่อนการเรียนรู้ของเด็กลงไปให้หมด สิ่งใดที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติก็ต้องถูกกำจัดออกไป ไม่ว่าจะเป็นการลดทอนโครงสร้างอำนาจระหว่างครูกับนักเรียน ครูควรจะเป็นเพียงแค่ผู้แนะนำ เป็นผู้อำนวยความสะดวกสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก ให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่การทำหน้าผู้สอนที่คอยแต่จะยัดเยียดความรู้มือสองที่เกิดจากการนึกคิดของผู้แต่งตำราให้เพียงอย่างเดียว ยกเลิกระบบการประเมินและวัดผลที่ก่อให้เกิดปมเด่มปมด้อย เกิดทิฏฐิมานะ เกิดความกดดันขึ้นในกลุ่มนักเรียน ยกเลิกเนื้อหาที่เป็นความรู้เลื่อนลอย ซึ่งไม่สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ เลิกแบ่งแยกระบบการเรียนรู้ออกจากชีวิตจริง เลิกแสวงหาผลประโยชน์และกำไรมากเกินควรจากระบบการศึกษา ฯลฯ

เด็กทุกวันนี้ไปโรงเรียนด้วยความกลัว กลัวว่าจะไม่เก่งเท่าเพื่อน กลัวว่าครูจะไม่รัก กลัวว่าครูจะไม่ชอบตน กลัวว่าจะไม่ได้รางวัลจากครู กลัวเพื่อนไม่สนใจ กลัวเพื่อนดูถูกซ้ำเติม กลัวทำผิด กลัวถูกทำโทษ กลัวถูกตำหนิ กลัวทำได้ไม่ดี กลัวทำให้พ่อแม่ผิดหวัง กลัวตามเพื่อนไม่ทัน กลัวด้อยกว่าเพื่อน สุดท้ายเด็กๆก็จะไม่ได้เรียนรู้อะไรจริงเลย นอกจากเรียนรู้ว่าจะปกปิดความกลัวของตัวเองอย่างไร และเป็นสาเหตุของความกลัว ความกดดันตลอดชีวิตที่จะติดตัวเขาไปจนตาย

ซึ่งสุดท้ายแล้ว จิตใจที่มีแต่ความกลัวนั่นแหละคือสิ่งที่บดบังการเรียนรู้ที่แท้จริงของเด็กไปเสียเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น